วันเสาร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2557

 รามเกียรติ์ ตอน "นางลอย" หรือบางครั้งเรียกว่าตอน "เบญกายแปลง" บทพระนิพนธ์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ย้อนกลับไปเมื่อ "พระราม" ต้องออกจากเมืองอโยธยามาบวชเป็นฤาษีและออกมาเดินธุดงค์ในป่าเป็นเวลา ๑๔ ปี โดยมี "นางสีดา"* (พระมเหสี) "พระลักษณ์" (พระอนุชา) ติดตามมาด้วย ขณะเดินทางอยู่กลางป่า "นางสำมนักขา" น้องสาวของ "ทศกัณฑ์" มาพบและเกิดหลงรักพระราม แต่กลับถูกพระลักษณ์ แล้วตัดจมูก,ปาก สักหน้า แล้วปล่อยตัวไป นางโกรธแค้นจึงไปฟ้องทศกัณฑ์ และแกล้งชมโฉมนางสีดา จนเกิดความอยากได้ จึงใช้อุบายลักพาตัวนางไปจากพระราม จนทำให้ทั้ง ๒ พระองค์ ต้องติดตามมายัง "กรุงลงกา" เพื่อชิงตัวนางกลับคืน โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพลิง โดยมีทหารเอกคือ "หนุมาน"


ข้างฝ่ายยักษ์ "พิเภก" น้องชายแท้ๆ ของทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นยักษ์ที่ผิดจากทั่วไป คือ ไม่มีฤทธิ์ แต่เชี่ยวชาญเรื่องโหราศาสตร์ ทำนายทายทักฤกษ์ยามเป็นอย่างมาก ต้องถูกทศกัณฐ์เนรเทศออกจากเมือง เพราะไม่เห็นด้วยกับการไปลักตัวนางสีดา มา และแนะนำให้ส่งตัวคืนกลับไป เพื่อป้องกันไม่ให้ "วงศ์ยักษ์" ต้องสูญสิ้นจากการทำสงครามครั้งนี้ พิเภกทำนายชะตาตัวเองรู้ว่าจะได้รับการอุปถัมป์จาก "พระนารายณ์อวตาร" (พระราม) จึงมาสวามิภักดิ์ โดยทำหน้าที่เป็นโหรประจำกองทัพ คอยช่วยเหลือแนะนำกลอุบายต่างๆ ของฝ่ายยักษ์ให้พระรามทราบ เมื่อทศกัณฐ์แปลงกายเป็นฤาษีเข้ามาสังเกตดูทัพพระราม โดยสะกดพิเภกให้พูดความจริงไม่ได้ และพยายามยุยงเกลี้ยกล่อมสารพัดให้ยกทัพกลับไปโดยอ้างว่า นางสีดาที่ไปอยู่กับทศกัณฐ์มีมลทินแล้ว ไม่ควรต้องรบให้เสียไพร่พล แต่พระรามก็ไม่เชื่อ ยืนยันว่าจะต้องไปนำนางสีดากลับมาให้ได้ พญายักษ์เห็นท่าไม่ดีเพราะพิเภกเริ่มแสดงกิริยากระสับกระส่ายจนผิดสังเกต จึงจำต้องถอนตัวกลับไป


ซึ่งตอน "นางลอย" ก็เริ่มตรงจุดนี้ คือ ทศกัณฐ์คิดอุบายใหม่ได้ โดยให้ "นางเบญกาย" หลานสาวแท้ๆ ของตน ที่เป็นลูกของ "พิเภก" กับ "นางตรีชฎา" แปลงกายเป็นนางสีดา แสร้งทำเป็นตายลอยน้ำไปให้พระรามเห็น โดยหวังว่า เมื่อเห็นว่านางสีดาที่เป็นต้นเหตุของเรื่องตายแล้ว พระรามจะหมดอาลัยตายอยากยอมถอดใจยอมยกทัพกลับไป ดังคำกลอนตอนนี้ที่ว่า


จึ่งคิดไว้ว่าศึกนี้ เป็นต้นด้วยทีเสน่หา
กูจะให้เบญกายกัลยา แปลงเป็นสีดาเยาวมาลย์
ไปทำตายลอยอยู่ที่ท่าสรง อันพระรามเคยลงสรัสนาน
แม้นเห็นว่านางวายปราณ การศึกก็จะเลิกกลับไป




นางเบญกาย ตัวละครเอกของตอนนี้

หลังนางนางเบญจกายเข้าไปดูหน้าตาของนางสีดา แล้วจึงแปลงกายมาให้ทศกัณฐ์ตรวจสอบความเรียบร้อย ด้วยความที่ "นางเบญกายแปลง" เหมือนนางสีดา มาก เมื่อทศกัณฐ์ถึงกับตะลึงคิดว่านางสีดามาหาจึงเข้าไปเกี้ยวพาราศีเป็นการใหญ่ จนนางต้องแปลงร่างกลับ เล่นเอาทศกัณฐ์อายเสียกระบวนเรียกว่า "เสียยักษ์" กันเลยทีเดียว



ทศกัณฑ์ไล่เกี้ยวนางเบญกายแปลงเพราะคิดว่าคือ นางสีดา

เมื่อได้การดังนั้นนางเบญกายจึงแปลงกายเป็นนางสีดาลอยทวนน้ำมาเกยยังท่าสรงที่พระราม พระลักษณ์ทรงใช้ประจำ เมื่อทั้ง 2 พระองค์ลงมาสรงน้ำทอดพระเนตรก็เสียพระทัยจนสลบไปพักใหญ่ ดังปรากฏในกาพย์ตอนนี้ว่า


พระเหลือบเล็งชลาสินธุ์ ในวารินทะเลวน
เห็นรูปอสุรกล อันกลายแกล้งเป็นสีดา
ผวาวิ่งก็หวั่นจิต ไม่ทันคิดก็โศกา

กอดแก้วขนิษฐา ฤดีดิ้นลงแดยัน
พระช้อนเกศขึ้นวางตัก พิศพักตร์แล้วรับขวัญ

ยิ่งคิดยิ่งกระสัน ยิ่งโศกเศร้าในวิญญา
พิศพื้นศิโรโรตน์ พระองค์โอษฐ์และนัยนา
กรแก้มพระกัณฐา ก็แม้นเหมือนสีดาเดียว



พระรามเห็นนางเบญกายแปลงลอยน้ำมาคิดว่าเป็นศพนางสีดาก็เสียพระทัยเป็นอันมาก

เมื่อ ๒ พระองค์ได้สติ หนุมานจึงทูลว่า ศพนางสีดานี้มีข้อพิรุธ เพราะลอยทวนน้ำมาจากกรุงลงกา แถมยังไม่เน่าเปื่อย กลับดูสดชื่น จึงทูลขอให้ลองเผาเพื่อพิสูจน์ เมื่อ "นางเบญกายแปลง" ถูกเผาก็ทนร้อนไม่ได้ต้องเหาะหนีตามควันไฟไปแต่ก็ถูกหนุมานตามจับไว้กลับมาเฝ้าพระรามได้ พิเภกผู้เป็นพ่อทูลว่าโทษนางถึงประหารชีวิต แต่พระรามเห็นแก่ความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาของพิเภก จึงยอมอภัยโทษให้ และให้หนุมานพาตัวนางกลับไปส่งยังกรุงลงกา ระหว่างทางหนุมานที่พอใจรักใคร่นางเบญกายจึงเกี้ยวพาราศีและได้นางเป็นเมียในที่สุด



นางเบญกายทนความร้อนจากไฟไม่ได้จนต้องเหาะหนีขึ้นฟ้าไป

ต่อจากตอน "นางลอย" นี้จะเป็นบทเริ่มต้นของสงครามระหว่างทัพของพระรากับทศกัณฑ์อย่างแท้จริง เพราะพระรามจะทำการ "จองถนน"* คือ ใช้ก้อนหินถมมหาสมุทรเพื่อเป็นทางให้ทัพข้ามไปยังกรุงลงกา ทำศึกกับกองทัพยักษ์ ซึ่งอย่างที่รู้ๆ กันว่าในท้ายที่ "ธรรมะย่อมชนะอธรรม" สุดท้ายทัพพระรามก็เป็นฝ่ายมีชัยต่อทศกัณฑ์ และชิงตัวนางสีดากลับมาได้ในที่สุด


นอกจากนี้ "นางเบญกาย" นี้ยังมีบทบาทต่อๆ มาในหลายตอน เช่น ตอนที่ทศกัณฑ์ทำพิธีชุบตัวในถ้ำ ๗ วันเพื่อให้ร่างกายจะกายสิทธิ์ ทนศาสตราวุธทุกชนิด ฆ่าก็ไม่ตาย โดยห้ามผู้ใดรบกวน "สุครีพ" "หนุมาน" และ "นิลนนท์" ได้รับคำสั่งจากพระรามให้มาทำลายพิธี แต่เมื่อถึงปากถ้ำก็มีหินใหญ่ปิดไว้จึงเข้าไม่ได้ ต้องไปขอน้ำล้างเท้าของนางเบญกายมารดที่ปากถ้ำเพื่อให้หินเปิดออก จากนั้นหนุมานจึงเข้าไปทำลายพิธีโดยสะกด "นางมณโฑ" เมียของทศกัณฑ์มาหยอกล้อเล่นทำให้ทำลายพิธีสำเร็จ






"นางเบญกาย" ยังมีลูกกับ "หนุมาน" ด้วย ซึ่งผลผลิตจาก "การผสมข้ามสายพันธุ์" ในครั้งนี้ได้ออกมาเป็น "อสุรผัด" ที่มีหน้าเป็นลิง ผมและลำตัวเป็นยักษ์ กายสีเลื่อมประภัสสร (สีขาวผ่องใสหรือออกเหลืองคล้ายพระอาทิตย์แรกขึ้น)



อสุรผัด ลูกของหนุมานกับนางเบญกาย

"โขนนางลอย" นี้ เป็นโขนตอนหนึ่งที่นิยมเล่นกัน แม้ไม่มีฉากยกรบที่อลังการเหมือนกับตอนอื่นๆ แต่กลับทดแทนด้วยบทร้องและท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม โดยเฉพาะช่วงที่ เบญกายแปลงเป็นนางสีดา เข้าไปให้ทศกัณฐ์ตรวจสอบ ใครที่ไม่เคยเห็น "ยักษ์เขิน" ก็จะได้เห็นในการแสดงตอนนี้ ซึ่งการรำ "ฉุยฉายเบญกาย" ซึ่งมีบทร้องที่ว่า


ฉุยฉายเอย จะไปไหนนิดเจ้าก็กรีดกราย
เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย ละเมียดละม้ายคล้ายสีดานงลักษณ์
ถึงพระรามเห็นทรามวัย จะฉงนพระทัยให้อาเหลื่ออาหลัก
งามนักเอย ใครเห็นพิมพ์พักตร์ก็จะรักจะใคร่
หลับก็จะฝันครั้งตื่นก็จะคิด อยากเห็นอีกสักนิดให้ชื่นใจ
งามคมดุจคมศรชัย ถูกนอกทะลุในให้เจ็บอุรา

แม่ศรีเอย แม่ศรีราษกศรี
แม่แปลงอินทรีย์ เป็นแม่ศรีสีดา
ทศพักตร์มลักเห็น จะตื่นจะเต้นในวิญญาณ์
เหมือนล้อเล่นให้เป็นบ้า ระอาเจ้าแม่ศรีเอย
อรชรเอย อรชรอ้อนแอ้น
เอวขาแขนแมน แม้นเหมือนกินรี
ระทวยนวยนาด วิลาสจรลี
ขึ้นปราสาทมณี เฝ้าพระปิตุลาเอย

"โขน" มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานของไทย มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยา, ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า เป็นการประยุกต์มาจากการแสดง ๓ ชนิด คือ "ชักนาคดึกดำบรรพ์", "หนังใหญ่" และ "กระบี่กระบอง" ซึ่งเรื่องที่นิยมเล่นมากที่สุดคือเรื่อง "รามเกียรติ์" หรือ "รามยณะ" มหากาพย์ของ "ฤาษีวาลมิกิ" นักบวชใน "ไวษณพนิกาย" (นิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด) เมื่อราวกว่า ๒,๐๐๐ ปีก่อน เป็นเรื่องราวการอวตารภาคหนึ่งของ "พระนารายณ์" ลงมาปราบยุคเข็ญบนโลกมนุษย์ โดยอวตารมาเป็น "พระราม" ส่วนบทละครที่เล่นในปัจจุบันมีการประยุกต์มาจากบทพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๖


ซึ่ง "โขนนางลอย" ที่เพิ่งแสดงผ่านไปนี้ เป็นไปตามพระราชเสาวณีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักถึงคุณค่าของการแสดงชั้นสูงที่เป็นศิลปะประจำชาติของไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างมีการจัดสร้างพัสตราภรณ์ และอุปกรณ์ประกอบฉากขึ้นใหม่ เพื่ออนุรักษ์ศิลปะตระกูลช่างต่างๆ ของไทยเอาไว้ รวมทั้งการคัดเลือกนักแสดงตัวเอกที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมตามแบบประเพณีโบราณ และยังได้เพิ่มเทคนิคฉากและเวทีสมัยใหม่ เช่น การใช้เวทีหมุน เป็นครั้งแรกในการแสดงโขน การชักรอกตัวแสดงในฉาก "นางเบญกายถูกเผา" การใช้แสงให้ดูสมจริง เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมและให้มีความงดงามมากขึ้น


"ศิลปะวัฒนธรรม" เป็นเครื่องบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมาของชนชาตินั้นๆ และในฐานะที่เราเป็นคนไทย ควรภูมิใจและต้องมีส่วนช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ถูกต้องและดีงามของชาติให้ดำรงคงอยู่สืบไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และไม่ปล่อยใจไหลไปกับ "คลื่นวัฒนธรรมต่างชาติ" ที่ถาโถมเข้ามาตาม "กระแสแห่งโลกาพิวัฒน์" จนลืมรากเหง้าตัวตนของเราเองไปหมดสิ้น เพราะถ้าถึงวันนั้นเราคงไม่สามารถบอกกับใครๆ ได้ว่าเราเป็น "คนไทย"


-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น